l
5fl
brg7
flow5
n-batear
 

     หูกาง (Bat ear) เป็นความผิดปกติของใบหูที่มีมุมจากศีรษะกว้างกว่าปกติทำให้มีรูปร่างใบหูไม่สวยงาม การศัลยกรรมสามารถแก้ไขลักษณะหูกางผิดปกติได้โดยการเปิดตามแนวหลังใบหู เพื่อปรับแต่งเย็บกระดูกอ่อนของใบหู หรือโดยการตัดกระดูกอ่อนบางส่วนของหูที่เป็นปัญหา เพื่อให้ได้รูปร่างที่ต้องการ

       การผ่าตัดหูกาง มีเทคนิคการผ่าตัดหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน โดยการเลือกวิธีการผ่าตัดว่าวิธีใดเหมาะสมจะต้องวิเคราะห์ที่ความผิดปกติแต่ละส่วนและแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ ดังนั้นก่อนผ่าตัดจะต้องปรึกษาแพทย์ และบอกความต้องการให้ชัดเจนว่าต้องการแก้ไขในส่วนใดบ้าง การปรึกษาก่อนการผ่าตัดจะช่วยปรับความต้องการของคนไข้ ว่าเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่และการวิเคราะห์ความผิดปกติของใบหูแต่ละข้างจะช่วยให้สามารถเลือกเทคนิคที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความผิดปกตินั้นๆ เทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัด หูซ้ายและหูขวาอาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากหูข้างหนึ่งอาจมีความแตกต่างจากหูอีกข้างหนึ่ง เช่นหูซ้ายอาจกางน้อยกว่าหูขวา มุมที่แก้ไขก็จะไม่เท่ากัน การตัดสินใจเลือกเทคนิควิธีการผ่าตัด จำเป็นต้องพิจารณาความผิดปกติของใบหูของผู้ป่วยแต่ละราย

batear2

       ปัญหาเรื่องหูกางในประเทศไทยพบมากแต่มีปัญหาทางสังคมน้อยผิดกับในต่างประเทศที่เด็กที่ไปโรงเรียนมักถูกเพื่อนล้อบ่อยๆ ทำให้ผู้ปกครองต้องนำมารับการผ่าตัด ตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างไรก็ตาม การผ่าตัดหูกางอาจทำได้ในทุกอายุตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน โดยทั่วไปหูกางมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่ในบางรายอาจเกิดข้างเดียวได้

       อายุของผู้ที่จะรับการผ่าตัดแก้ไขหูกาง ในต่างประเทศมักทำหลังอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่หูมีการเจริญเติบโตมากที่สุด โดยทั่วไปจะทำในอายุ 5 - 7 ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยปัญหาเรื่องการถูกล้อเลียนที่โรงเรียนมีน้อยกว่า อาจทำการแก้ไขในเด็กที่โตกว่านี้มากกว่า

 รูปร่างใบหูที่ดูสวยงาม ควรมีลักษณะ ดังนี้

  1. แนวโค้งของส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นธรรมชาติ ไม่เด่นชัดเกินไป
  2. เวลามองหน้าตรงไบหูไม่ควรมองเห็นเด่นชัดมากกว่าส่วนอื่นของใบหน้า
  3. ขอบนอกของใบหู (Helix) ควรมองเห็นชัดจากภาวะหน้าตรง การแก้ไขใบหูจนขอบกลางของใบหู (Ant helix) มีความโค้งชัดเจนมากกว่าขอบนอก (helix) จะทำให้ใบหูดูไม่เป็นธรรมชาติ

 การเลือกเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขหูกาง

       จำเป็นต้องเลือกและวางแผนผ่าตัด ขณะที่ทำการปรึกษาก่อนการผ่าตัด โดยต้องวิเคราะห์ ปัญหา ความผิดปกติของใบหูนั้นๆ แล้วแพทย์ต้องตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดบ้าง โดยทั่วไปสาเหตุหลักของหูกาง คือ

  1. ขอบกลางของใบหู (Ant he lix) มีลักษณะ แบนและมุมกางเกินไป
  2. คองกา (concha) ของใบหูมีขนาดใหญ่หรือลึกเกินไป

       สาเหตุของหูที่กางอาจเกิดจากสาเหตุที่ 1 หรือ 2 หรือทั้ง 2 สาเหตุ การตัดสินใจว่าจะใช้การผ่าตัดใดก็พิจารณาปัญหาว่าเกิดจากขอบกลางของใบหูหรือ คองกา โดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุแรก การผ่าตัดก็มักจะเลือกแก้ไขในส่วนของขอบกลาง (Ant helix) แต่ในบางรายที่มีสาเหตุจาก คองกา มีขนาดใหญ่ ถ้าไม่ทำการแก้ไขในส่วนนี้ อาจทำให้รูปร่างไม่สวยงาม เนื่องจากใบหูจะแบนราบลง แต่ส่วน คองกา จะนูนขึ้นมาทำให้ดูผิดธรรมชาติ

       นอกจากสาเหตุทั้งสองแล้วในคนไข้ แต่ละรายต้องพิจารณาด้วยใบหูที่กางมีส่วนที่ขอบบนของใบหูและติ่งหู มีมุมกางออกด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีปัญหานี้ร่วมด้วยควรต้องแก้ไขโดยต้องเย็บส่วนขอบบนและติ่งหู เพื่อให้รูปร่างสวยงาม ถ้าไม่แก้ไข ปัญหานี้หลังจากแก้ไขหูกางแล้วจะมีปัญหาของหูรูปโทรศัพท์ได้ (Telephone ear)

 กล่าวโดยสรุป เทคนิคที่เรานำมาใช้ในการผ่าตัดแก้ไขหูกางปัจจุบัน ประกอบด้วย

num1 การแก้ไขมุมของใบหูที่เกิดจากขอบกลาง (Ant helix) การแก้ไขทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การเย็บ โดยใช้ไหมที่ไม่ละลายเย็บกระดูดอ่อนแล้วจัดมุมให้สวยงาม มักทำร่วมกับการตัดผิวหนังบริเวณด้านหลังของใบหู
  2. การเปลี่ยนรูปร่างของกระดูกอ่อน โดยการฝนกรอหรือปาดผิวของกระดูกอ่อนด้านหลังด้วยใบมีดหรือเครื่องมือพิเศษ วิธีอาจทำโดยใช้เปิดแผลด้านหน้าขนาดเล็กที่ขอบใบหู หรือเปิดแผลขนาดยาวบริเวณด้านหลังของใบหู

num2 การแก้ไขความสูงของคองกา (concha)
     คองกา เป็นกระดูกอ่อนที่อยู่ด้านในของขอบกลางใบหู (Ant helix) ในรายที่มีปัญหาคองกาใหญ่และลึกมากอาจแก้ไขโดย

  1. เย็บกระดูกอ่อนคองกาเข้ากับกระดูกบริเวณหลังใบหู
  2. ตัดกระดูกอ่อนชิ้นนี้ให้เล็กลง โดยการทำโดยเปิดแผลที่บริเวณหลังใบหูหรือด้านหน้าใบหู

num3 แก้ไขขอบบนของใบหูที่กางออกโดยเย็บกับเยื่อหูบริเวณหนังศีรษะ (Hatch)

num4 แก้ไขมุมของติ่งหู โดยเย็บขอบของติ่งหูเข้ากับเนื้อเยื่อบริเวณหลังหู ช่วยให้มุมของติ่งหูราบไปกับผิวหนังด้านข้างของศีรษะ

เทคนิคที่ 1 - 4 มักทำร่วมกับการติดผิวหนังบริเวณหลังหูออกประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร โดยที่การแก้ไขมักใช้เทคนิคที่ 1 เป็นหลักโดยพิจารณาเพิ่ม เทคนิคที่ 2 , 3 หรือ 4  ในคนไข้จากการพิจารณาก่อนผ่าตัดเป็นรายๆ ไป

สำหรับที่ คลินิกศัลยกรรมใบห มักใช้เทคนิคการผ่าตัดผิวกระดูกอ่อนเป็นหลักและในวิธีการอื่นๆ ร่วมโดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป

 การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

  1. ไม่ต้องงดอาหารและน้ำในผู้ใหญ่
  2. ควรลดยาแอสไพรินหรือยากลุ่มแก้ปวดกล้ามเนื้อประมาณ 10 วันก่อนผ่าตัด
  3. สมุนไพรบางชนิด เช่น อัฟนิ่งริมโรสยาวิตามินอีปริมาณสูงๆ อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส กระเทียม หัวหอม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือมีปัญหาระหว่างผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจต้องหยุดรับประทานสมุนไพรก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 5 วัน
  4. เตรียมผ้าคาดศีรษะ (Head band) ไว้สำหรับหลังผ่าตัด ผ้าคาดศีรษะที่ใช้ไม่ควรแน่นมากและควรใช้ผ้าที่มีความกว้างมากๆ เพื่อไม่ให้กดรัดใบหูเกินไป
  5. เตรียมลาหยุดประมาณ 3 - 5 วัน
  6. ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวของคุณ เช่น เบาหวาน , โรคหัวใจ , และยาที่แพ้ เช่น เพนนิซิลิน , ซัลฟา ฯลฯ
  7. มีคนมาเป็นเพื่อน เพื่อช่วยดูแลขณะกลับบ้าน
  8. ผู้ที่ต้องสวมแว่นตาการเตรียมอุปกรณ์สำหรับรองขาแว่น เพื่อไม่ให้แว่นตากดทับแผลหลังผาตัด , ควรเตรียมหยุดงานประมาณ 5-7 วัน เนื่องจากจะใส่แว่นไม่ถนัดในระยะแรก
  9. ในเด็กอาจจำเป็นต้องดมยาสลบ เพื่อผ่าตัดต้องงดอาหาร 6 - 8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
  10. ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ มา ในวันผ่าตัด ควรใส่เสื้อที่ติดกระดุมด้านหน้าไม่ควรใส่เสื้อยืดที่ไม่มีกระดุม เพราะต้องสวมผ่านศีรษะทำให้เจ็บแผลผ่าตัดที่ใบหูได้
  11. ในเด็กวันที่ทำการผ่าตัดควรมีสุขภาพดี ไม่เป็นหวัด
  12. ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อของหูชั้นกลาง
  13. ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะแนะนำว่าต้องการผ่าตัดเย็บหูส่วนบนหรือติ่งหูด้วยหรือไม่

 การผ่าตัด

  1. การผ่าตัดอาจทำโดยการดมยาสลบในเด็กหรือฉีดยาชาในผู้ใหญ่ ยาชาที่ใช้ฉีดในการผ่าตัดเป็นยาชาที่ผสม อดินาริน ซึ่งช่วยในการห้ามเลือดระหว่างผ่าตัด
  2. วาดรูปผิวหนังด้านหลังหูที่จะตัดและวาดรูปกระดูกอ่อนของใบหูที่จะทำการแก้ไข
  3. แก้ไขทรงของกระดูกอ่อน โดยการเย็บเปลี่ยนมุมของกระดูกอ่อนหรือใช้การผ่าตัดบนผิวกระดูกอ่อน เพื่อเปลี่ยนมุมของกระดูกอ่อน โดยอาจเปิดแผลทางด้านหน้าหรือด้านหลังของใบหู
  4. ในคนที่กระดูกอ่อนคองกามีขนาดใหญ่และมีมุมลึก อาจต้องแก้ไขมุมของกระดูกอ่อนนี้ โดยการเย็บหรือตัดกระดูกอ่อน
  5. ในบางรายอาจต้องผ่าแบบแก้ไขมุมของกระดูกอ่อนด้านบน (Hatch Suture) ในผู้ที่มีการผ่าตัดข้อนี้เพิ่ม ไม่สามารถใส่แว่นตาได้จนกว่าแผลจะหาย โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์
  6. ในบางรายอาจต้องแก้ไขติ่งหูให้ราบลง โดยผ่าตัดผิวหนัง บริเวณหลังติ่งหูหรือโดยการเย็บติ่งหูเข้ากับกระดูกอ่อนหรือหนังศีรษะ
  7. เย็บปิดแผล โดยใช้ไหมเล็กลง

ก่อนผ่าตัด

หลังผ่าตัด 3 อาทิตย์

หลังผ่าตัด 5 เดือน

  1. การปิดแผลทำได้ 2 วิธี
    A.   ปิดแผลแบบปกติ โดยใช้สำลีหรือผ้าก๊อซหนา ๆ ปิดรอบแผล ถ้าไม่ต้องไปทำงานในวันพรุ่งนี้
    B.   ปิดแผลเล็กๆ บริเวณหลังหู ปิดเทปที่ด้านหน้าของใบหู และปิดทับด้วยผ้าคาดผม กรณีที่ต้องไปทำงานในวันรุ่งขึ้น วิธีนี้อาจมีปัญหาเรื่องเลือดออกได้ อาจต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจแผลผ่าตัดเร็วกว่าวิธี A

 การดูแลหลังการผ่าตัด

 การผ่าตัด โดยการฉีดยาชาสามารถกลับบ้านได้เลย ถ้าทำโดยวางยาสลบต้องพักที่โรงพยาบาล 1 คืน

  1. ปิดแผลไว้ประมาณ 2 วัน ในวันที่ 2 หรือ 3 แพทย์จะนัดทำแผลที่คลินิกควรระมัดระวังไม่ให้ผ้าก๊อซหรือสำลีปิดแผลหลุด
  2. หลังจากเปิดแผลแล้วให้ทายาแก้อักเสบที่แผลทั้ง 2 ข้าง วันละ 2 ครั้ง จนถึงวันตัดไหม
  3. ถ้ามีปัญหาเลือดออกมาก หรือบวมมากให้มาพบแพทย์ก่อนเวลานัดได้
  4. ใช้ผ้าคาดศีรษะให้ใบหูแนบกับศีรษะเวลานอน เป็นเวลา 2 - 3 อาทิตย์ หลังจากเปิดผ้าปิดแผล
  5. แพทย์จะนัดตรวจอีกครั้ง ประมาณ 1 อาทิตย์
  6. ตัดไหม ประมาณ 2 อาทิตย์
  7. งดดื่มสุราและบุหรี่ ประมาณ 1 อาทิตย์
  8. โดยทั่วไปหลังผ่าตัดตกแต่งใบหูจะไม่ปวดมากยกเว้น ถ้ามีการกดทับบริเวณใบหู
  9. หลังจากเปิดแผลในวันที่ 2 หรือ 3 สามารถสระผมได้
  10. ในช่วง 2 อาทิตย์แรก ห้ามใช้ไดรเป่าผมที่ให้ลมร้อน เพราะอาจทำให้เกิดแผลจากความร้อนที่ใบหูได้
  11. งดทำกิจกรรมบางประเภท เช่น มวยปล้ำ ประมาณ 4 อาทิตย์
  12. สามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น
  13. งดเล่นกีฬาหนัก ประมาณ 1 อาทิตย์
  14. เด็กเล็กให้หยุด ประมาณ 7 วัน หลังผ่าตัดและงดให้เล่นกีฬาและงดเล่นยิมนาสติก 2 อาทิตย์
  15. โดยทั่วไป อาการบวมและเขียวจะมีไม่มาก
  16. โดยทั่วไป อาการบวมที่ใบหูจะดีขึ้นเมื่อ 2 - 4 อาทิตย์
  17. ใช้น้ำเกลือเช็ดแผลและทายาฆ่าเชื้อที่บริเวณด้านหลังของใบหูวันละครั้งและปิดทับด้วยผ้าก๊อซ และผ้าคาดศีรษะ ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจาก 1 อาทิตย์ ไม่ต้องใช้ผ้าก๊อสปิดแผลใช้ผ้าคาดศรีษะคาดทับใบหูได้เลย
  18. ใน 2 อาทิตย์แรก ไม่ควรนอนตะแคง ควรนอนหงาย ไม่นอนทับใบหู

 ปัญหาที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

  1. โดยทั่วไป ความคาดหวังหลังการผ่าตัดควรทำให้ใบหูมีลักษณะสวยงาม แต่เป็นธรรมชาติ การผ่าตัดที่มีใบหูพับงอมากเกินไป จนกระทั่งติดด้านข้างของศีรษะมากเกินไป  ถือเป็นการแก้ไขที่มากเกินธรรมชาติและผลที่ออกมาก็ดูไม่สวยงาม
     
  2. การงอใบหูมากเกินไป ทำให้ขอบกลาง (anti helix) ของใบหูนูนเกิน ในกรณีนี้อาจเกิดจากการที่คองกามีขนาดใหญ่และลึก แต่ไม่ได้ผ่าตัดบริเวณคองกาทำให้ต้องงอบริเวณขอบกลางมากจนเกินปกติ
     
  3. ใบหูโทรศัพท์ (Telephone ear) เกิดจากการไม่สมดุลในการงอกระดูกอ่อนของใบหู โดยที่พับงอ บางส่วนกลางใบหูแต่ส่วนบนและส่วนล่างไม่ได้พับงอ

:: ขอสงวนสิทธิ์ข้อความและรูปภาพในเว็บไซต์นี้ ห้ามลอกเลียนหรือเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตจากเวบมาสเตอร์ ::

 
brg6
r
bot-b
menu2-b_01 menu2-b_12

Copyright 2007 www.earsclinic.com  All Rights Reserved. Designed by Seroong